โทษของบุหรี่ ทำเสี่ยงสารพัดโรค ยิ่งสูบมากก็ยิ่งตายไว แล้วพิษภัยอะไรบ้างที่สิงห์อมควันต้องเผชิญ รีบอ่าน รีบดับบุหรี่ในมือ
ใคร ๆ ก็รู้ว่า "บุหรี่" มีพิษภัยร้ายแรงขนาดไหน แต่สิงห์อมควันหลายคนก็อ้างว่าพยายามเท่าไรก็ "เลิกไม่ได้" เสียที ถ้าใครเป็นหนึ่งในนั้น เราอยากให้คุณลองพยายามดูใหม่ เพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ในควันบุหรี่ เต็มไปด้วย นิโคติน (สารเสพติด), สารเคมี 7,000 ชนิด, สารพิษ มากกว่า 250 ชนิด และสารก่อมะเร็ง มากกว่า 70 ชนิด ยิ่งสูบบุหรี่นานเท่าไร คุณก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่บั่นทอนชีวิตของคุณให้สั้นลง ไม่ต่างจากไฟของบุหรี่ที่ค่อยมอด ๆ ลงเมื่อสูบไปนาน ๆ เลย
วันนี้ ขอนำข้อมูลมาย้ำให้ฟังกันชัด ๆ อีกครั้งว่า โทษของบุหรี่ ทำให้เกิดอาการและโรคอะไรได้บ้าง อ่านแล้วอาจจะช่วยกระตุ้นเตือนให้รู้สึกอยากเลิกบุหรี่เพื่อเป็นของขวัญให้กับชีวิตอีกสักครั้ง
-มีโอกาสตคาบอดถาวร
ฟังดูอาจจะสงสัย แต่ขอบอกว่า การสูบบุหรี่มีโอกาสทำให้ตาบอดได้จริง เพราะผู้สูบบุหรี่จะเป็นต้อกระจกได้เร็วกว่าคนทั่วไป เนื่องจากสารพิษจะเร่งให้เลนส์ตาที่อยู่ข้างในลูกตาขุ่นมัว และเริ่มขุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่สูบ จนเกิดเป็นภาวะต้อกระจก หากไม่ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ก็จะตาบอด
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดเลี้ยงจอเรตินาหรือจอประสาทตาตีบตันได้ ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์ประสาทของจอประสาทตาขาดเลือดและตายไป ทำให้ตาบอดถาวร ไม่สามารถรับภาพหรือแสงได้
-หลอดเลือดสมองตีบ-แตก-ตัน
สารพิษอันน่ากลัวในควันบุหรี่จะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบ แตก ตัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นกับหลอดเลือดส่วนที่ไปเลี้ยงสมอง ก็จะทำให้เป็นโรคสมองเสื่อม โดยมีงานวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษาในลอนดอน ที่เคยลงตีพิมพ์ในเว็บไซต์เอบีซีนิวส์ ระบุว่า คนที่สูบบุหรี่จัดอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในเพศชาย ประสิทธิภาพของสมองจะเสื่อมเร็วกว่าผู้คนที่ไม่สูบบุหรี่ และจะมีระดับการทำงานของสมองเทียบเท่ากับคนที่แก่กว่า 10 ปี หรืออธิบายได้อย่างง่าย ๆ ว่า หากคุณอายุ 50 ปี และสูบบุหรี่ ประสิทธิภาพการทำงานของสมองของคุณจะเทียบเท่ากับคนอายุ 60 ปีที่ไม่สูบบุหรี่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่อาการสมองเสื่อมจะถามหาผู้สูบบุหรี่เท่านั้น แต่ถ้าหลอดเลือดในสมองตีบตันมาก ๆ เข้า จนเส้นเลือดในสมองแตก ก็ทำให้เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ทุกข์ทรมานไปทั้งชีวิต
-โรคหัวใจและหลอดเลือด
บุหรี่จะทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว มีการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบลง จนเกิดภาวะหัวใจขาดออกซิเจน เส้นเลือดหัวใจตีบ เมื่อเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ จะเกิดอาการจุกเสียด เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันจนเสียชีวิตได้โดยไม่รู้ตัว
-โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ
ปอดคืออวัยวะหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากการสูบบุหรี่ โดยจะทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง หายใจไม่สะดวก หลอดลมอักเสบ ปอดบวม โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เป็นโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จนปอดส่วนใหญ่ถูกทำลาย อาจต้องใช้เครื่องออกซิเจนช่วยหายใจตลอดเวลา
และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ "โรคมะเร็งปอด" ซึ่งเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ และส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมะเร็งปอดร้อยละ 90 มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่นี่เอง อาการเริ่มต้นจากอาการไอแห้ง ๆ เป็นเวลานานตามมาด้วยอาการไอเรื้อรัง แต่ในบางคนอาจไม่พบอาการไอเลย มารู้ตัวอีกทีก็ตรวจพบมะเร็งในระยะลุกลามแล้ว ซึ่งผู้ป่วยร้อยละ 90 จะเสียชีวิตใน 1-2 ปีหลังจากเป็นโรค
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ระบุว่า ผู้ที่สูบบุหรี่เพียงวันละ 1 ซองก็มีความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า และหากสูบวันละ 2 ซอง ก็เสี่ยงโรคมะเร็งมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 25 เท่า
-โรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ
ผู้สูบบุหรี่จัด ๆ เสี่ยงต่อโรคกระดูกพุรนด้วย เพราะสารพิษในบุหรี่ โดยเฉพาะ "นิโคติน" จะไปขัดขวางเลือดที่ส่งไปเลี้ยงกระดูก และยังลดการดูดซึมแคลเซียม สิงห์อมควันจึงมีกระดูกเปราะ หักง่าย อีกทั้งยังมีอาการอักเสบของข้อ เอ็นกล้ามเนื้ออาจฉีกขาดได้ง่าย ซึ่งถ้าเป็นแล้วจะรักษาได้ยากกว่าคนทั่วไป และแผลก็จะหายช้าด้วย
-โรคระบบทางเดินอาหาร
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งกล่องเสียง มะเร็งช่องปากและหลอดอาหาร ยิ่งถ้าผู้สูบบุหรี่ดื่มแอลกอฮอล์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงโรคมะเร็งเหล่านี้สูงขึ้นไปอีก
-โรคระบบทางเดินปัสสาวะ
นิโคตินในบุหรี่จะไปทำลายกล้ามเนื้อที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้อ่อนตัวลง ผู้สูบบุหรี่จึงมีโอกาสกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และที่ร้ายแรงกว่านั้นก็คือ คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเพิ่มขึ้น เพราะสารพิษสามารถดูดซึมเข้ากระแสเลือดและขับถ่ายออกทางกระเพาะปัสสาวะได้ การสูบบุหรี่จึงทำให้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะสัมผัสกับสารก่อมะเร็งโดยตรง
ที่มา https://health.kapook.com/view89443.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น